กฎหมายที่ควรรู้ ก่อนเป็น พ่อค้า-แม่ค้า ออนไลน์
ปัจจุบันการเป็นผู้ประกอบการ SME หรือร้านค้าออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เนื่องด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยี ซึ่งในส่วนของกฎหมายก็ได้มีการกำหนดมาตรการต่างๆ ไว้เพื่อรองรับการทำธุรกิจประเภทนี้เช่นเดียวกัน เพื่อสร้างมาตรฐานให้มีความน่าเชื่อถือแก่ผู้ประกอบการ SME และสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค
กฎหมายเกี่ยวกับ “ผู้ประกอบการหรือร้านค้าออนไลน์”
ผู้ประกอบธุรกิจที่ทำการค้าขายสินค้าออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต มีหน้าที่ต้องไปจดทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. จึงจะสามารถประกอบกิจการได้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถตรวจสอบหรือติดตามผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ค้าขายได้ หากผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ์จากการซื้อสินค้าหรือบริการ
ผู้ใดฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน หนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่
นอกจากมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนต่อ สคบ. แล้ว ยังมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบการมีตัวตนของผู้ประกอบการได้ว่ามีตัวตนจริงหรือไม่
กฎหมายเกี่ยวกับ “ตัวสินค้า”
(1) ราคาของสินค้า : ต้องเป็นตัวเลขอารบิกให้ชัดเจนและเปิดเผย หากต้องให้ลูกค้าส่งข้อความถามราคาจะผิดกฎหมาย รวมทั้งราคาที่แสดงต้องตรงกับราคาที่จำหน่ายจริง
(2) ค่าใช้จ่ายอื่น : เช่น ค่าขนส่ง ค่าบริการอื่นๆ ต้องแสดงให้ชัดเจนและเปิดเผย
(3) รายละเอียดสินค้า : แสดงรายละเอียดประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และ รายละเอียดอื่นๆของสินค้าให้ชัดเจน โดยแสดงเป็นภาษาไทยและอาจมีภาษาอื่นร่วมด้วยก็ได้
นอกจากนี้ ในกรณีที่ทำผิดแล้วมีคนแจ้ง ผู้ค้าจะเสียค่าปรับไม่เกิน 10,000 บาท
กฎหมายเกี่ยวกับ “การโฆษณา”
การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความ (รวมถึงภาพของสินค้า) ซึ่งมีลักษณะดังนี้
(1) เป็นเท็จหรือเกินความจริง
(2) ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
(3) เป็นการสนับสนุนให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรม หรือเสื่อมเสียในวัฒนธรรม
(4) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคี
กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
ผู้ประกอบการ SME ควรตรวจสอบว่าสินค้าที่นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ ละเมิดเครื่องหมาย หรือละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่นหรือไม่ หากผู้ประกอบการ SME ได้จำหน่ายสินค้าที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็อาจมีโทษอาญาทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งยังมีความรับผิดทางแพ่งต่อเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญาด้วย
ภาษีขายสินค้าออนไลน์
สำหรับการเสียภาษีออนไลน์ ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์ก็ต้องยื่นเสียภาษี หากมีรายได้ตามเกณฑ์ ดังนี้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับผู้ที่มีเงินได้สุทธิ (รายได้จากการขายสินค้าออนไลน์ – ค่าใช้จ่าย) ตั้งแต่ 150,000 บาท/ปี ขึ้นไป สามารถจ่ายภาษีได้ 2 วิธี คือ
“แบบเหมา” จะเป็นการหักต้นทุนในสัดส่วนร้อยละ 60 ของรายได้ หรือการนำร้อยละ 40 ของรายได้ทั้งหมดไปคิดภาษี
“แบบตามความจำเป็น” คือ นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการขายสินค้าออนไลน์มาหักออก ซึ่งวิธีนี้ต้องมีใบเสร็จ หรือใบกำกับภาษี หรือเอกสารแสดงรายได้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ถูกต้อง และครบถ้วน โดยวิธีนี้จะมีความยุ่งยากมาก ดังนั้นเจ้าของกิจการ หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์จึงมักเลือกจ่าย”แบบเหมา” มากกว่า
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
สำหรับผู้ที่มีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ซึ่งเจ้าของกิจการหรือพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์จะต้องไปยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่สรรพากรในพื้นที่ ภายใน 30 นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน และในทุกๆ เดือน จะต้องนำใบกำกับภาษีไปยื่นเพื่อเสียภาษีแก่กรมสรรพากรภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
บทลงโทษสำหรับเจ้าของกิจการ หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่หลีกเลี่ยงไม่ยื่นการเสียภาษี
2.1 กรณีไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในเวลาที่กำหนด ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย นับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันชำระภาษี และมีโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท
2.2 กรณียื่นเสียภาษีไม่ครบจำนวน จะต้องเสียค่าปรับ 1 – 2 เท่า ของจำนวนภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมด
2.3 เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อหนีภาษี จะมีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.4 จงใจแจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จเพื่อหนีภาษี จะมีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 – 200,000 บาท
อ้างอิง : https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20190312092512